BRR ท็อปฟอร์ม ปี 65 กำไร 760 ลบ. โตสนั่น 498% แจกปันผลหุ้นละ 0.20 บาท ชูธุรกิจ Wood Pellet เริ่มปั๊มรายได้ Q3 พร้อมรุกคาร์บอนเครดิต
“บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ หรือ BRR” ประกาศผลงานปี 65 บุ๊คกำไร 760.56 ลบ. เติบโต 498.67%
โกยรายได้ 7,352.68 ลบ. เพิ่มขึ้น 94.08% จากปีก่อน รับผลบวกจากราคาน้ำตาลเพิ่มสูงขึ้น ค่าเงินบาท
ที่อ่อนค่า และการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้กลุ่มธุรกิจมีกำไรเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ
พร้อมแจกปันผลหุ้นละ 0.20 บาท ตอบแทนผู้ถือหุ้น ประเมินปี 66 เติบโตต่อเนื่องในทุกกลุ่มธุรกิจ
ชูโครงการเชื้อเพลิงชีวมวลสุดฮอต เป็นที่ต้องการของญี่ปุ่น พร้อมลงทุนเพิ่ม รับเจรจานักลงทุนพร้อมขอสัมปทาน ส่วนเฟสแรกในสปป.ลาว ผลิตแสนตัน ญี่ปุ่นเซ็นเหมาซื้อระยะยาว 15 ปี จ่ายปีละ 17 ล้านดอลล์ราว 590 ล้านบาท เริ่มรับรู้รายได้ไตรมาส 3 ปีนี้
นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยว่า ผลประกอบการของบริษัทฯ งวดปี 2565 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 760.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้น633.51 ล้านบาท โต 498.67% ซึ่งเติบโตจากงวดปี 2564 ที่มีกำไร 127.04 ล้านบาท สาเหตุที่กำไรเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับผลบวกจากราคาน้ำตาลเพิ่มสูงขึ้น และค่าเงินบาทที่อ่อน ตลอดจนการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีรายได้รวมอยู่ที่ 7,352.68 ล้านบาท รายได้เพิ่มขึ้น 3,564.26 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 94.08% เทียบกับปีก่อนที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 3,788.42 ล้านบาท
จากผลประกอบการที่มีกำไรดังกล่าว และเพื่อเป็นการตอบแทนผู้ถือหุ้นที่ยังคงเชื่อมั่น ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติเสนอผู้ถือหุ้นจ่ายเงินปันผลสำหรับผลประกอบการปี 2565 ในอัตราหุ้นละ 0.20 บาท/หุ้น คิดเป็นเงินรวม 162,419,969 บาท โดยกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) วันที่ 12 พฤษภาคม2566 และจ่ายเงินปันผลวันที่ 25 พฤษภาคม 2566
ด้านธุรกิจน้ำตาลในปี 2566 ยังสดใส เนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2564 จากประมาณการผลผลิตทั่วโลกปีนี้ไม่เกินดุลอย่างที่คาดการณ์ไว้ จึงเป็นเหตุให้ราคาตลาดโลกยังคงปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 20-22 เซนต์/ปอนด์ สำหรับศักยภาพการเติบโตของกลุ่มธุรกิจ BRR บริษัทวางเป้าหมายรายได้เติบโต 8,000 กว่าล้านบาท ในอีก 3 ปี จากแผนขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์ชานอ้อย 7,000 ตัน/ปี โดยลงทุนเครื่องจักรอีก 14 เครื่อง รวมเป็น 28 เครื่อง ด้านโครงการ Wood Pellet ในสปป.ลาว ในนามบริษัท สีพันดอน - ราชลาว จำกัด กำลังการผลิต 100,000 ตันต่อปีนั้น บริษัทมีสัญญาจองซื้อระยะยาว 15 ปี จากบริษัทในประเทศญี่ปุ่นแล้ว ที่ราคาเฉลี่ย 170 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน คิดเป็นรายได้มูลค่า 17 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือราว 590 ล้านบาท จะเริ่มรับรู้รายได้เข้ามาในไตรมาส 3 ปี 2566 และจากโนว์ฮาวด้านการผลิตและการจัดการวัตถุดิบที่มี บริษัทฯ ได้เริ่มเจรจากับนักลงทุนเพื่อขยายโครงการถัดไป
โดยโครงการ Wood Pellet มีพื้นที่สัมปทาน 40,000 ไร่ ล่าสุดได้รับการรับรองมาตรฐาน FSC (Forest Stewardship Council) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ยอมรับจากผู้ซื้อในตลาดระดับสากล และการันตีได้ว่าผลิตภัณฑ์ได้รับการตรวจสอบตลอดห่วงโซ่อุปทาน และมั่นใจได้ว่ามาจากป่าปลูกเชิงพาณิชย์ที่มีการบริหารจัดการอย่างมีความรับผิดชอบ
นายอนันต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การปลูกไม้เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิต Wood Pellet ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยังสร้างรายได้ให้แก่บริษัทด้วยการขายคาร์บอนเครดิตอีกด้วย จากการปลูกไม้ในพื้นที่ จะสามารถดูดซับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้เฉลี่ย 6 ตันคาร์บอนต่อไร่ ซึ่งราคาซื้อขายปัจจุบันอยู่ที่ 50-100 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันคาร์บอน หรือราว 1,700-3,500 บาทต่อตันคาร์บอน โดยบริษัทตั้งเป้าหมายสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมจัดทำเอกสารเพื่อขอรับรองและขึ้นทะเบียนการขายคาร์บอนเครดิต
ตามมาตรฐานสากล พร้อมทั้งได้หารือกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องของสปป.ลาว